ศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมัยใหม่ PTT RUTS Smart Farming ได้รับรองมาตรฐาน GAP การันตีผลผลิตปลอดภัยสินค้าเกษตร
.
นายทวีศักดิ์ ศรีภูงา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช พื้นที่ขนอม พร้อมด้วย อาจารย์เมธาพร มีเดช ในนามผู้รับผิดชอบ และ คณาจารย์ บุคลากร ทีม PTT RUTS Smart Farming ให้การต้อนรับ คุณอาพร คงอิสโร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร นครศรีธรรมราช ในนามตัวแทน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโอกาสส่งมอบเอกสารการรับรอง ให้กับ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมัยใหม่ PTT RUTS Smart Farming ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร มกษ. 9001 - 2556 ชนิดพืช ไฮโดรโปนิกส์ พื้นที่ 0.5 ไร่ โดยรับรองตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2565 ถึง วันที่ 27 ตุลาคม 2567 ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช
.
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมัยใหม่ PTT RUTS Smart Farming เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในพื้นที่อำเภอขนอม โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนทุนการดำเนินการ บนพื้นที่ของ มทร.ศรีวิชัย พื้นที่ขนอม กว่า 10 ไร่ และ การให้คำปรึกษา ถ่ายทอดความรู้ ดำเนินการขอมาตรฐาน GAP สำนักงานเกษตรอำเภอขนอม ซึ่งดำเนินงานมาแล้วกว่า 1 ปี สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นักศึกษาจบใหม่ไม่มีงานทำ ปตท. ได้มีนโยบายที่จะช่วยบรรเทา โดยสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพกลุ่มต่าง ๆ จ้างนักศึกษาจบใหม่เข้ามาทำงาน ช่วยเหลือสังคมกลุ่มเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด-19 กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศภายใต้โครงการ “นวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม” ขณะนี้มีกิจกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลูกผักเพื่อน้อง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษา มทร.ศรีวิชัย พื้นที่ขนอม บุคลากร พี่น้องประชาชนบริเวรใกล้เคียง ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้วิธีปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ และเมื่อได้ครบกำหนดเวลาเก็บเกี่ยว ส่วนหนึ่งนำไปรับประทาน ส่วนหนึ่งนำไปส่งต่อให้กับ โรงเรียนในพื้นที่อำเภอขนอม เพื่อใช้ประกอบอาหารกลางวันลดค่าใช้จ่ายอาหารกลางวันให้กับทางโรงเรียน
.
สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมัยใหม่ PTT RUTS Smart Farming นั้น เป็นการการันตีถึงความปลอดภัยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และ เพื่อขยายผลทางการตลาดสู่ห้างสรรพสินค้า หรือส่งออกไปยังกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป ซึ่ง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) หมายถึง แนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด โดยขบวนการผลิตจะต้อง ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมีการใช้ ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุน การผลิตตามมาตรฐาน GAP ก่อให้เกิดความยั่งยืน ทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม มาตรฐาน GAP เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ ปัจจัยการผลิต การผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งการผลิต สำหรับการผลิต สินค้าเกษตร 3 ประเภท คือ พืชผล ปศุสัตว และสัตว์น้ำ
==================
ภาพ/ข่าว : แผนกงานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายบริหารและวางแผน
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม
FB : https://www.facebook.com/pr.cim.rmutsv
WWW : https://cim.rmutsv.ac.th/
TikTok : @cim_khanom
Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=j-tiVDfwfQo
==================
รับสมัครนักศึกษา มทร.ศรีวิชัย พื้นที่ขนอม
https://www.facebook.com/cim.ruts