มทร.ศรีวิชัย ร่วมกับ กศน.ขนอม ผลักดันอาชีพชุมชน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ถ่ายทอดการทำยาหม่องไพล

มทร.ศรีวิชัย ร่วมกับ กศน.ขนอม ผลักดันอาชีพชุมชน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ถ่ายทอดการทำยาหม่องไพล
.
ระหว่างวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2565 ดร.สุพร ฤทธิภักดี หัวหน้าสาขาวิศวกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช พื้นที่ขนอม ได้รับเกียรติเชิญเป็นวิทยากร จาก นางสาวอภิรมย์ มนัส ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอขนอม (กศน. อำเภอขนอม) ในการบรรยายและถ่ายทอดความรู้เชิงปฏิบัติ เรื่อง การทำยาหม่องไพล ให้กับชุมชนตำบลควนทอง ณ ศาลาหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 บ้านเจดีย์หลวง ตำบลควนทอง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
.
นางสาวอภิรมย์ มนัส ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอขนอม กล่าวว่า สำหรับหลักสูตร เรื่อง การทำยาหม่องไพล จัดขึ้นภายใต้โครงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ (กลุ่มสนใจไม่เกิน 30 ชั่วโมง) หรือ จำนวน 6 ชั่วโมง ให้กับประชาชนตำบลควนทอง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่ไม่มีอาชีพ หรือที่มีอาชีพต้องการพัฒนาอาชีพของตนเองให้มั่นคง เกิดความรู้ความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพ ส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจชุมชน และการประกอบอาชีพเสริมต่อไปในชุมชนตำบลควนทอง อำเภอขนอม
.
ด้าน ดร.สุพร ฤทธิภักดี หัวหน้าสาขาวิศวกรรม วิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ กล่าวว่า ไม่ว่าจะในสมัยอดีตหรือปัจจุบัน สมุนไพรยังคงมีคุณค่าและมีคุณประโยชน์ทางยาที่สามารถช่วยรักษาอาการต่างๆได้ดี ดังนั้น เช่นเดียวกันกับ ยาหม่องไพล ทำขึ้นโดยมีส่วนผสมหลัก คือ สมุนไพรไพล หรือ หัวไพล ด้วยการสกัดน้ำมันไพลที่ได้จากการทอด (hot oil extract) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ซึ่งเป็นสูตรเภสัชตำรับของโรงพยาบาล บรรเทาอาการ ปวดเมื่อย บวม ฟกช้ำ เคล็ดยอก การอักเสบของเอ็น กล้ามเนื้อและข้อต่อ
.
การสกัดด้วยวิธีการทอด น้ำมันไพลสูตรนี้เตรียมได้จากการนำไพลสดมาทอดกับน้ำมันพืช ชนิดอิ่มตัว ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันปาล์ม ไม่ควรใช้น้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัว เพราะว่าจะไม่ทนต่อความร้อนและทำให้พันธะคู่ในโมเลกุลเกิดการแตก และรวมตัวเป็นสาร“โพลีเมอร์”เกิดขึ้น ทำให้เกิดความหนืดนอกจากนี้จะทำให้เกิดควันได้ง่าย และน้ำมันเหม็นหืน น้ำมันพืชก็สามารถจะสกัดน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วยสารประกอบที่มีขั้วน้อยและโมเลกุลเล็กได้ พร้อมทั้งสกัดสารประกอบที่มีขั้วน้อยแต่มีโมเลกุลใหญ่ได้ด้วย ซึ่งในไพลนอกจากประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยแล้ว ยังประกอบสารกลุ่ม arylbutanoids, curcuminoids, และ cyclohexene derivatives เป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่กว่าสารในน้ำมันหอมระเหยและเป็นสารที่ไม่ระเหย
.
อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้กับแผลเปิด โรคผิวหนังที่มีน้ำเหลือง และไม่ควรใช้ในผู้ที่แพ้ไพลหรือส่วนประกอบในตำรับ การที่ยาโดนแสงแดด สีเหลืองของยาอาจจางลง แต่ไม่มีผลต่อสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ของยา การใช้น้ำมันไพล อาจเกิดการชาบริเวณที่มีการใช้ยา เนื่องจากการออกฤทธิ์ชาเฉพาะที่ของไพล ไม่ก่อให้เกิดอันตราย
-------------------------------------------

ภาพ/ข่าว : แผนกประชาสัมพันธ์ งานบริหารและวางแผน
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/pr.cim.rmutsv
http://cim.rmutsv.ac.th