ฝ่ายพัฒนานักศึกษา ถ่ายทอดความสำคัญการประกันคุณภาพการศึกษา ให้กับ สโมสรนักศึกษา และ นักศึกษา สร้างการรับรู้เพื่อพัฒนาองค์กร

ฝ่ายพัฒนานักศึกษา ถ่ายทอดความสำคัญการประกันคุณภาพการศึกษา ให้กับ สโมสรนักศึกษา และ นักศึกษา สร้างการรับรู้เพื่อพัฒนาองค์กร
.
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 ฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช พื้นที่ขนอม จัดกิจกรรมอบรม "การประกันคุณภาพการศึกษาสำหรับนักศึกษา" โดยมี อาจารย์ชุลี หมีรักษา รองผู้อำนวยการ เป็นประธานในการเปิดการอบรม และ นายเข้มนที ศรีสุขล้อม หัวหน้าแผนกงานกิจกรรมนักศึกษา กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting
.
ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ภริศฑ์ชาก์ ชดช้อย หัวหน้าแผนกงานประกันคุณภาพการศึกษา ฝ่ายวิชาการและวิจัย เป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษา กว่า 30 คน สำหรับ #ประกันคุณภาพการศึกษา ในบริบทของนักศึกษากับการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษานักศึกษาในฐานะผู้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินงานประกันคุณภาพของสถาบัน ควรมีบทบาทในการเป็นส่วนสนับสนุนและส่งเสริมให้การดำเนินงานด้านประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผลการดำเนินงานที่ดีมีคุณภาพ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อนักศึกษาเช่นกัน ดังนั้น บทบาทนักศึกษาในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานประกันคุณภาพของสถาบันจึงควรมีดังต่อไปนี้
1.1 บทบาทในการศึกษา ติดตาม รับรู้การดำเนินงานประกันคุณภาพของสถาบัน ทั้งในภาพรวมและโดยเฉพาะองค์ประกอบในส่วนที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อนักศึกษาโดยตรงได้แก่ องค์ประกอบด้านการเรียนการสอน ด้านกิจกรรมพัฒนานักศึกษา หรือด้านทำนุบำรุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม โดยควรศึกษาว่าสถาบันได้กำหนดนโยบายคุณภาพและแนวทางการดำเนินงานประกันคุณภาพในแต่ละองค์ประกอบไว้อย่างไร
1.2 บทบาทในการให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานประกันคุณภาพต่อสถาบันในส่วนที่นักศึกษาพิจารณาว่า หากได้มีการกำหนดดัชนีเพิ่มเติมในแต่ละเรื่อง จะก่อให้เกิดประโยชน์หรือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น
1.3 บทบาทในการให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลย้อนกลับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินการดำเนินงานประกันคุณภาพ ซึ่งสถาบันดำเนินการด้วยข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ให้ข้อเท็จจริงมากที่สุด เพื่อให้ข้อมูลความคิดเห็นของนักศึกษาเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อประโยชน์ในการนำมาใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานประกันคุณภาพของสถาบัน
1.4 บทบาทในการสะท้อนภาพการดำเนินงานของหน่วยงานหรือการดำเนินบทบาทของคณาจารย์และบุคลากรต่อสถาบันโดยตรง ในกรณีที่นักศึกษาพิจารณาเห็นว่าการดำเนินงานดังกล่าวไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือไม่ครบองค์ประกอบการดำเนินงานที่ควรจะเป็น อันจะเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวทางการประกันคุณภาพต่อไป
1.5 บทบาทในการเผยแพร่และเชิญชวนให้นักศึกษาในสถาบัน ได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านประกันคุณภาพของสถาบัน
1.6 บทบาทในการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรนักศึกษาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกันคุณภาพของสถาบัน เพื่อสร้างเครือข่ายในการร่วมติดตาม รับรู้การดำเนินงานประกันคุณภาพ สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างวิสัยทัศน์และโลกทัศน์การดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพ เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานด้านประกันคุณภาพมีความเข้มแข็งและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่นักศึกษาต่อไป
2. บทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้
2.1 ให้ข้อมูลแก่สถาบันเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ที่สะท้อนสภาพที่เกิดขึ้นจริง
2.2 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพการสอนของคณาจารย์
2.3 ให้ข้อมูลที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการสอนของคณาจารย์
2.4 เสนอแนะรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
2.5 แสดงความสนใจในสิ่งที่ตนเองต้องการเรียนรู้ให้ผู้สอนทราบ
2.6 ให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูลของสถาบัน
2.7 พัฒนาตนเองให้อยู่ในข่ายที่จะได้รับการยกย่อง
2.8 ทำตนไม่ให้สถาบันเสื่อมเสีย
2.9 หาโอกาสในการสร้างชื่อเสียงแก่สถาบันตามศักยภาพของตนเอง
2.10 ช่วยให้ข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลของเพื่อนักศึกษาหรือศิษย์เก่าที่ได้รับการยกย่องให้สถาบันรับทราบ
2.11 สื่อสารให้สถาบันทราบถึงความต้องการจำเป็นของตนเองที่ต้องการให้สถาบันจัดบริการให้
2.12 ให้ข้อมูลต่อสถาบันเกี่ยวกับคุณภาพหรือความเหมาะสมของบริการที่สถาบันจัดให้
2.13 เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่สถาบันจัดขึ้นเพื่อพัฒนาตนเอง
2.14 นำกระบวนการคุณภาพไปใช้ในการจัดกิจกรรมนักศึกษา
.
โดยสรุป การประกันคุณภาพการศึกษา คือ กระบวนการในการบริหารจัดการและการดำเนินการตามภารกิจหลักที่สถาบันอุดมศึกษาจะต้องปฏิบัติ 4 ประการ คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยกระบวนการดังกล่าวประกอบด้วย การควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบคุณภาพ การประเมินคุณภาพ และการพัฒนาคุณภาพเพื่อให้การดำเนินการตามภารกิจหลักทั้ง 4 ประการนั้นได้มาตรฐานตามองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษา ผู้ปกครอง สถานประกอบการ สังคมและประเทศชาติ ได้ว่าการจัดการศึกษาของสถาบันนั้นได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บัณฑิตที่จบจากสถาบันมีคุณภาพและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาที่ได้กำหนดไว้ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการจัดการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ รวมถึงการพัฒนา การจัดการศึกษาของสถาบันให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการและมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

--------------------------------
ภาพ/ข่าว : แผนกประชาสัมพันธ์ งานบริหารและวางแผน
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/pr.cim.rmutsv
http://cim.rmutsv.ac.th